ประวัติ ของ โบสถ์คาทอลิกนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่

โบสถ์หลังที่ 1

โบสถ์หลังแรกนั้นเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2422 โดยบาทหลวงมาธือแรง ฟรังซัว มารี เกโก บาทหลวงเกโกได้อพยพชาวบ้าน และทาสมาทำการสำรวจหาพื้นที่ใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารกร้างว่างเปล่าประมาณ 15,000 ไร่ (ปัจจุบัน 13,000 ไร่) ไม่มีคนอาศัย มีแต่พวกสัตว์ร้าย บาทหลวงเกโกได้ซื้อปืนแก๊ป ปืนคาบหิน มากกว่า 30 กระบอกและปืนตั้งอีก 3 กระบอกสำหรับไล่ช้าง และสัตว์ร้ายต่าง ๆ ท่านปลูกบ้านไว้หลายหลัง และโบสถ์ชั่วคราวอีกหลังหนึ่งตรงใจกลางของพื้นที่ (ต่อมาให้ชื่อว่าโบสถ์นักบุญฟิลิปและยากอบ) [2] [3]

บาทหลวงเกโกผู้บุกเบิก

โดยแรกเริ่มโบสถ์หลังแรกมีลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มีดอกบัวประดับอยู่บนหลังคา 6 ดอก ผนังเป็นไม้ไผ่ฉาบปูน ชั้นล่างไว้เก็บวัวเก็บควาย ด้านหน้ามีบันไดขึ้นลงเรียกว่า บันได้ดิน ดำเนินการก่อสร้างโดย หมอมาก ซึ่งเป็นทาสที่บาทหลวงเกโกได้ไถ่มา หมอมากท่านนี้มีความสามารถในการทำไม้ ในการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ [4] และรอบ ๆ ตัววัดเป็นป่าพงไพรทั้งสิ้น มีแต่สัตว์ป่าอาศัยอยู่เช่น เสือ ช้าง ควายป่า หมูป่า กวาง ละมั่ง จระเข้ และงูพิษต่าง ๆ คุณพ่อต้องให้ลูกบ้านพกปืนกระบอก เพื่อไว้ไล่ช้างเป็นโขลง ๆ มีการสร้างโรงเรียนโดยการให้ใช้ภาษาละตินในการสอน วัดหัวไผ่หลังแรกใช้งานมาทั้งสิ้น 49 ปี และได้ถูกรื้อถอนและสร้างโบสถ์หลังที่ 2 ขึ้นในสมัยของบาทหลวงยาโกเบ แจง เกิดสว่าง (ต่อมาได้รับการอภิเษกให้เป็นมุขนายกท่านแรกของมิสซังจันทบุรี)[5] ปัจจุบันพื้นที่บริเวณโบสถ์หลังที่หนึ่งนี้ได้ทำการถมดินสูงและสร้างถ้ำแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ดไว้แทน ในสมัยของบาทหลวงเอวเยนบุญชู ระงับพิศม์ ขณะสร้างโบสถ์หลังที่สาม[6]

โบสถ์หลังที่ 2

โบสถ์คาทอลิกหัวไผ่หลังที่ 2

บาทหลวงยาโกเบ แจง เกิดสว่างมารับหน้าที่เป็นอธิการโบสถ์แทนบาทหลวงอเล็กซิส บาทหลวงยาโกเบ แจง เห็นว่าสภาพโบสถ์หลังที่บาทหลวงเกโกสร้างไว้นั้นชำรุดแล้ว จึงได้ส่งคำร้องขออนุญาตสร้างโบสถ์หลังใหม่กับพระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส และก็ได้รับการอนุมัติในเวลาต่อมา บาทหลวงยาโกเบ แจง จึงเริ่มลงมือในการสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้น โดยลักษณะของโบสถ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 8-10 ห้อง มีเสาร่วมในการรับโครงสร้างหลังคา จั่วมีขนาดใหญ่เนื่องจากอาคารมีขนาดกว้างมาก และมีเสาริมผนังที่ยึดผนังอาคารการวางตัวอาคารวางในแกนนอนยาวในทางทิศตะวันออก ภายในแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนโถงทางเข้าด้านหน้า และส่วนร่วมชุมนุมประกอบพิธีกรรม ทั้งสองส่วนถูกแบ่งด้วยระดับพื้นเตี้ย ๆ ด้านหน้าบริเวณศักดิ์สิทธิ์ประกอบไปด้วยแท่นบูชา ที่นั่งประธาน ตู้เก็บศ๊ลมหาสนิท โดยที่มีรูปนักบุญอยู่เหนือพระแท่นบูชา และในส่วนของที่ชุมนุมประกอบไปด้วยที่นั่งของสัตบุรุษ ซึ่งแยกฝั่งซ้ายเป็นส่วนของผู้หญิง และฝั่งขวาเป็นส่วนของผู้ชาย มีการเจาะช่องเปิดด้านข้างของอาคาร มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ประตู [7]

ฯพณฯ ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ผู้สร้างโบสถ์หลังที่ 2

และโบสถ์หลังที่สองหลังนี้เอง เคยเป็นที่อภิเษกบาทหลวงยาโกเบ แจง เกิดสว่าง เป็นมุขนายกไทยคนแรก โดยพระคุณเจ้าเรอเน แปรรอสเป็นผู้อภิเษกให้ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488[8] และหลังจากได้รับการอภิเษกแล้วพระคุณเจ้ายาโกเบ แจง ยังได้ใช้โบสถ์หัวไผ่เป็นสำนักมิสซังแห่งแรกอีกด้วย (ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปทำการที่อำเภอศรีราชาแทนในสมัยของ พระคุณเจ้า ฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี) ปัจจุบันโบสถ์หลังที่ 2 นี้ได้แปรสภาพเป็นอาคารสงบ ในสมัยของบาทหลวงเอวเยน บุญชู ระงับพิศม์จนถึงปัจจุบัน

โบสถ์หลังที่ 3

โบสถ์คาทอลิกหัวไผ่หลังที่ 3

บาทหลวงเอวเยนบุญชู ระงับพิษม์มาเป็นอธิการโบสถ์ ได้ทำการสร้างโบสถ์หลังที่ 3 ขึ้นแทนหลังเดิมที่ชำรุดจากการใช้งานและสงคราม โบสถ์หลังที่ 3 เป็นโบสถ์ทรงไทยยาว 36 วา หรือ 72 เมตร (ตามการตรึงพระเยซูที่กางเขนเมื่ออายุ 36 ปี) ความกว้าง 11 วา หรือ 22 เมตร สูง 2 ชั้น ลักษณะเป็นทรงไทยด้านหน้าของวัดประกอบด้วยยอดสุดมีกางเขน แทนช่อฟ้า ใบระกา และหวงหงษ์ มีจั่วหลังคาทรงสูง และมีแปรองรับจันทัน คานรองรับด้วยคันทวยหรือท้าวแขนที่ชายคา มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ประตู ด้านข้างด้านละ 1 ประตู ทั้งหมดมีทรงเปนจั่วแหลม และมีบัวหัวเสาทุกประตู ผนังก่อซีเมนต์ ด้านในประกอบไปด้วยชีบอรีอุมที่คลุมเหนือพระแท่นไว้ ซึ่งชีบอรีอุมนี้มีลักษณะเป็นทรงไทยมีช่อฟ้าเป็นกางเขน ใบระกา และหวงหงษ์สวยงาม ตรงกลางของชีบอรีอุมได้ห้อยกางเขนประธานของวัดไว้ ซึ่งปัจจุบันได้นำไปติดไว้ที่ผนังแทน ผนังด้านหลังของพระแท่นบูชาวาดเป็นรูปกลุ่มลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เสารองรับน้ำหนักของวัดจะประดับด้วยบัวหัวเสารูปกาบไผ่ และใบหอก และมีกรอบลายนูนต่ำลายลูกฟักลายประจำยาม จะต่อลายกันด้วยลายก้ามปูลายประจำยามบนผนังชั้นลอยของวัดทั้งหลัง และฝ้าเพดานของวัดมีลายดาวเพดาน หรือกลุ่มดาวกระจาย ทั่วทั้งเพดานวัด และหน้าต่างประกอบไปด้วยกระจกสีสวยงาม[9] มีแท่นตู้ศีลศักดิ์สิทธิ์และแท่นนั้นก็มีลักษณะมีชีบอรีอุมคุลมไว้เช่นกันแต่มีขนาดย่อมกว่า โดยมีบาทหลวงเอวเยน บุญชู เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างด้วยตนเอง มูลค่า 1,700,000 บาท

บาทหลวงเอวเยน บุญชู ระงับพิศม์ ผู้ออกแบบและสร้างโบสถ์หลังที่ 3

ลงมือสร้างครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 วางศิลาฤกษ์เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 เปิดเสกเมื่อ 11 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2508 รวมระยะเวลาการสร้างทั้งหมด 5 ปี[10] โบสถ์หลังที่ 3 เคยเป็นที่อภิเษกพระคุณเจ้าเทียนชัย สมานจิต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2514[11]

โบสถ์หัวไผ่หลังปัจจุบันนี้มีลักษณะพิเศษคือมีชีบอรีอุมครอบพระแท่นไว้ เนื่องจากโบสถ์คาทอลิกในประเทศไทยไม่มีโบสถ์หลังไหนมีชีบอรีอุมครอบพระแท่นเช่นหลังนี้มาก่อนและในตอนนี้ โบสถ์หลังนี้อยู่ในการบูรณะ เนื่องจากฝ้าเพดานเริ่มผุและพังทลายลงมา คานปูนด้านล่างของโบสถ์เริ่มกร่อนแตกร้าว เนื้อปูนเสื่อมสภาพ มากกว่า 70 เปอร์เซนต์ หลังจากทีมสำรวจของโบสถ์ได้ทำการสำรวจแล้ว บาทหลวงยอห์น บัปติส วีเชียร ฉันทพิริยะกุลซึ่งเป็นอธิการโบสถ์ในขณะนั้นมีความว่า เห็นสมควรที่จะต้องดำเนินการการรื้อถอนตัวโบสถ์หลังปัจจุบัน และดำเนินการสร้างโบสถ์หลังหลังใหม่ต่อไป[12]

ซุ้มชิโบเรียมแบบไทยประยุกต์ของโบสถ์หลังปัจจุบันกำลังดำเนินเรื่องการการรื้อถอน

โบสถ์น้อย

บาทหลวงเอวเยนได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมความศรัทธาต่อแม่พระ โดยให้ชนแต่ละกลุ่มของตนหาที่เหมาะสมที่จะสร้างโรงสวดขึ้นที่เรียกว่า โบสถ์น้อยประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ชนกลุ่มนั้น ๆ ได้ร่วมสวดภาวนา และมีการฉลองโบสถ์น้อยปีละครั้ง โดยสัตบุรุษร่วมกันตั้งชื่อโบสถ์น้อย ดังนี้ [13]

โบสถ์น้อยแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด เนินวัด

ใช้พื้นที่ของโบสถ์หลังแรกที่บาทหลวงเกโกสร้างขึ้น นำมาถมดินจนสูงแล้วสร้างถ้ำแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ดจำลอง มีเนื้อที่ 639 ไร่เศษ

โบสถ์น้อยแม่พระที่พึ่งแห่งปวงชน เนินท่าข้าม

ตั้งอยู่บนถนน 315 ตัดกับถนนเส้น 3127 ห่างจากตัวโบสถ์ไปทางทิศตะวันออก เนื้อที่ 3,430 ไร่เศษ

โบสถ์น้อยแม่พระนิจจานุเคราะห์ เนินคู้-กระพังบอน

ตั้งอยู่ซอยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกขี้หนอน (สถานีอานามัย บ้านหัวไผ่) ห่างจากตัวโบสถ์ทางทิศใต้ เนื้อที่ 2,379 ไร่เศษ

โบสถ์น้อยแม่พระมหาชัย เนินกลม

ตั้งอยู่บนถนน 3127 ห่างจากตัวโบสถ์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เนื้อที่ 2,995 ไร่เศษ

โบสถ์น้อยแม่พระฟาติมา เนินชวดล่าง

ตั้งอยู่บริเวณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองตีนนก ห่างจากตัวโบสถ์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื้อที่ 105 ไร่เศษ[14] [15]